พระเนื้อว่าน หลวงปู่ทวด พิมพ์ใหญ่ หัวขีด วัดช้างไห้ ปี 2497 จังหวัดปัตตานี
พระเนื้อว่าน หลวงปู่ทวด ปี 2497 เป็นที่สาธุชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศยังไม่ลดละความพยายามพากันเสาะแสวงหาเพื่อบูชาติดตัวพร้อมอาราธนาบทพุทธคุณ เพื่อให้แคล้วคลาดจากภยันตรายและเจริญด้วยสิริสวัสดิ์ทั้งหลายทั้งปวง โดยมีส่วนผสมของว่าน 108 ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ครอบจักรวาล ด้านหลังกดแร่ศักดิ์สิทธิ์ แร่กากยายักษ์ที่หาพบยาก การปลุกเศกพิธีกรรมอันบริสุทธิ์ เนื้อว่านมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อตามธรรมชาติ คราบที่มีอายุ แท้ดูง่าย แบ่งปันให้บูชา ให้ผู้ที่มีบุญสัมพันธ์เก็บไว้เป็นคู่บารมี สะสมไว้วันข้างหน้า การบูชาจะยิ่งสูงขึ้นไปกว่าปัจจุบัน
สารบัญ
- ประวัติการสร้างพระปู่ทวด
- ประวัติหลวงทิม ธัมมธโร
- การศึกษา
- ที่มาการสร้างพระ
- ที่มาการสร้างบล็อกแม่พิมพ์
- เริ่มแรกบล็อกครั่งเป็นแม่พิมพ์
- ที่มาการสร้างบล็อกแม่พิมพ์
- ปาฎิหาริย์ว่าน108
- การสร้างพระปู่ทวดเนื้อว่าน
ประวัติการสร้างพระหลวงปู่ทวด
จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ทิม ธัมมธโร พระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร แห่งวัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เกิดวันพุธ เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ ปีชวด จ.ศ.1274 ตรงกับวันพุธ ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2455 ณ บ้านนาประดู่ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ในวันที่พระอาจารย์ทิมมรณภาพ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 30 พฤศจิกายน 2512 พระอำนวย นนทิโย ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน และนายเพิ่ม พรหมประดู่ พี่ชายของท่านต้องคอยปฏิบัติเลือดออกปากอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเวลา 00.37 น. พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร หมดลม อัสสาสะปัสสาสะพอดี ที่โรงพยาบาลกลาง กรุงเทพมหานคร
ข้อมูลประวัติ หลวงปู่ทิม ธัมมธโร วัดช้างไห้
การศึกษา
พระครูวิสัยโสภณ หรือ พระอาจารย์ทิม เดิมท่านชื่อ ทิม พรหมประดู่ เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม2455 ณ บ้านนาประดู่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เป็นบุตรของนายอินทอง กับนางนุ่ม พรหมประดู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 6 คน เมื่อท่านอายุได้ 9 ขวบ บิดามารดาได้ฝากให้อยู่กับ “พระครูภัทรกรณ์โกวิท” ซึ่งขณะนั้นยังเป็น “พระแดง ธมฺมโชโต” เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เพื่อจะได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดนาประดู่
ครั้นต่อมาเมื่ออายุได้18 ปี พระอาจารย์ทิม ได้บวชเป็นสามเณร จากนั้นได้ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาจนอายุได้ 20 ปี จึงได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดนาประดู่ โดยได้จำพรรษาที่วัดนาประดู่ 2 พรรษา หลังจากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม
ต่อมาได้ย้ายกลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดนาประดู่ หลังจากนั้นใน พ.ศ.2484 ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) ซึ่งในตอนแรกยังคงไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดช้างให้ กับวัดนาประดู่ เพราะท่านยังเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดนาประดู่ จนมาถึงช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ จ.ปัตตานี รถไฟสายใต้จากหาดใหญ่ไปสุไหงโก-ลก ต้องขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลาย ๆ เที่ยว และหลาย ๆ ขบวน ทำให้ประชาชนขวัญเสีย หวาดกลัวภัยสงคราม พระอาจารย์ทิม ต้องรับภาระหนัก คือ ต้องจัดหาอาหารและที่พักแก่ผู้ที่เดินทางผ่านวัดไม่เว้นแต่ละวัน นับได้ว่าท่านเป็นพระผู้ทรงคุณธรรมที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาตั้งแต่ต้น
เมื่อครั้งที่พระอาจารย์ทิมไปอยู่ที่วัดช้างให้ใหม่ ๆ นั้น วัดช้างให้อยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้าง ทรุดโทรม ท่านจึงได้ริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด ให้เป็นที่น่าเคารพบูชา พระอาจารย์ทิม ท่านได้มีดำริที่จะสร้างอุโบสถ จึงได้จัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด ขึ้นมาเมื่อปี ๒๔๙๖ โดยมีนายอนันต์ คณานุรักษ์ ร่วมจัดสร้างด้วยเพื่อหาทุนสร้างอุโบสถ
พระหลวงพ่อทวด รุ่นแรก ได้จัดสร้างแล้วเสร็จในปี 2497 จัดสร้างด้วยเนื้อว่าน ได้ทำพิธีปลุกเสกโดย พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นประธานการอธิษฐานจิตปลุกเสก และมีพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกหลายรูป ได้เงินทำบุญจากผู้มีจิตศรัทธาที่เช่าพระเครื่องหลวงพ่อทวด จำนวนหนึ่งได้นำมาสร้างอุโบสถ และและอีกส่วนหนึ่งได้ใช้ปรับปรุงบริเวณวัดช้างให้ที่รกร้างให้ดีขึ้น
พระอาจารย์ทิม ท่านได้เริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่หลอดอาหาร ตั้งแต่ พ.ศ.2510 และได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2512
แม้ว่าพระอาจารย์ทิมท่านจะได้มรณภาพไปนานหลายปีแล้ว แต่สิ่งที่ท่านได้สร้างไว้ อาทิ อุโบสถ วิหารสำหรับประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทวด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาเคารพสักการบูชา สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงพ่อทวด ที่ติดกับทางรถไฟสายใต้ กุฏิที่ใช้สำหรับเป็นที่อาศัยของพระเณร กุฏิเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ศาลาการเปรียญ ตลอดถึงถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดช้างให้ โรงเรียนวัดช้างให้ หลังคาทรงเรือนไทย ที่เป็นตึก 2 ชั้น ติดกับทางรถไฟหน้าวัด พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ใจกลางวัดช้างให้ ฯลฯ ล้วนสำเร็จด้วยความมุมานะของพระอาจารย์ทิมท่านทั้งสิ้น
ที่มาการสร้างพระหลวงปู่ทวด เนื้อว่าน
ในหนังสือประวัติพระราชทานเพลิงศพพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธัมมธโร)
มีการเรียบเรียงโดยพระโศภนธรรมคุณ วัดนาประดู่ เมื่อวันอังคาร ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ซึ่งนำมาแจกในวันงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2518 มีการบันทึกข้อมูลการจัดสร้างพระหลวงปู่ทวดที่น่าสนใจ ดังนี้
ดังปรากฏในหน้าที่ 12-14 ได้เขียนถึงการสร้างพระหลวงปู่ทวดไว้ว่า ท่านพระครูได้ปรึกษาหารือกับท่านนอง ธัมฺมภูโต (พระธรรมกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดทรายขาวองค์ปัจจุบัน (ขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่) ต่างก็เห็นชอบด้วย และในเวลาเดียวกัน นายอนันต์ คณานุรักษ์ คหบดีตลาดปัตตานีซึ่งสนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว ขอระรับภารให้การอุปถัมภ์ในการสร้างพระเครื่องนี้ทั้งหมดเกี่ยวกับทุนดำเนินงาน พระครูธรรมกิจโกศลพร้อมด้วยพระเณรวัดนาดู วัดทรายขาว และวัดช้างให้ รับภาระในการจัดหาว่านชนิดต่างๆ เท่าที่ต้องการมาให้
ในวันศุกร์ ที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2497 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง จ.ศ.1315 เวลาเที่ยงตรงเป็นเวลาท่านพระครูกด พระเครื่องเข้าเบ้าพิมพ์และลงมือทำพระเครื่องไปโดยลำดับ พระครูธรรมกิจโกศล (นอง ธัมมภูโต) เป็นผู้หนึ่งที่ประจำโรงพิธีร่วมกับท่านอาจารย์ทิม คือ พระครูวิสัยโสภณตลอดไป
นอกจากนี้พระเณรที่วัดต่างก็ช่วยกันกดพิมพ์พระเครื่องตามที่ท่านพระครูสั่งให้ทำจนถึงวันพฤหัสบดี ที่ 15 เมษายน พ.ศ.2497 ได้พระเครื่อง 64,000 องค์ แต่จะพิมพ์ให้ได้ 84,000 องค์ แต่เวลาไม่พอด้วยว่าจะทำการปลุกเสกในวันอาทิตย์ ที่ 18 เมษายน พ.ศ.2497 เป็นวันอาทิตย์เพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาเที่ยง
เมื่อได้ฤกษ์ตามที่ท่านกำหนดไว้ท่านพระครูเข้านั่งประจำที่ประกอบพิธีปลุกเสกองค์เดียวจนถึงเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกันนั้น ต่อจากนั้นท่านก็มอบพระเครื่องให้แก่ผู้ที่เคารพนับถือคนละหนึ่งองค์ เป็นที่น่าสังเกตว่า การประกอบพิธีปลุกเสกพระเครื่องหลวงพ่อทวด ท่านพระครูประกอบพิธีปลุกเสกเพียงองค์เดียวเท่านั้นเป็นเช่นนี้ทุกครั้งที่ท่านสร้างพระเครื่อง พระเครื่องหลวงปู่ทวดมีชื่อเสียงดังไปทั่วประเทศ เข้าใจว่าทั้งนี้เนื่องจากท่านผู้ปลุกเสกมีพลังจิตสูงมีเมตตาสูง และผู้สร้างมิได้มีจิตคิดหาลาภผลทางวัตถุแต่อย่างใด ตั้งใจจะเป็นเครื่องสักการบูชาของผู้ที่เคารพนับถือ
ท่านอาจารย์ทิม ธัมมธโร หรือท่านพระครูวิสัยโสภณ ปลุกหลวงพ่อทวดให้ตื่นขึ้นในระยะเวลา 20 ปีมานี้ ทำให้ผู้คนรู้จักวัดช้างไห้ รู้จักพระเครื่องหลวงพ่อทวด จังหวัดปัตตานี ซึ่งจะมีเซียนพระสายหลวงปู่ทวด สักกี่คนที่เคยได้อ่าน
“หนังสือประวัติพระราชทานเพลิงศพพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธัมมธโร) ที่เรียบเรียงโดย พระโศภนธรรมคุณ วัดนาประดู่” ส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะที่ “ดูพระเป็นแต่ไม่รู้ประวัติศาสตร์การสร้างที่ชัดเจน”
ในกรณีการจัดสร้างพระหลวงปู่ทวดเนื้อทองคำมีข้อถกเถียงในวงการพระเครื่องมาตลอด แต่ข้อถกเถียงมาสิ้นสุดที่คำกล่าวของ “หลวงอำนวย” หรือ “พระอำนวย นนทิโย” พระลูกศิษย์ใกล้ชิดพระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร แห่งวัดช้างให้ อาจารย์โคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเคยติดตามอาจารย์ทิม ธัมมธโร ตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งปัจจุบันได้ลาสิกขาเป็นฆราวาส ที่ว่า
“มีการสร้างพระหลวงปู่ทวดทองคำเอาไว้จำนวนหนึ่งจริง ตนเห็นกับตา พระเครื่องทองคำส่วนหนึ่งที่จัดสร้างขึ้นก็เพื่อมอบให้คหบดี ผู้มีชื่อเสียง ข้าราชการระดับสูงและเศรษฐีที่บริจาคปัจจัยจำนวนมาก เพื่อตอบแทนน้ำใจที่มีส่วนช่วยบูรณะวัดช้างให้เป็นกรณีพิเศษ จะเรียกว่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่เป็นทองคำนั้นมอบให้เฉพาะเจาะจงแก่บุคคลสำคัญๆ ก็ว่าได้”
พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ได้สร้างสุดยอดแห่งรูปเคารพพระเครื่องหลวงปู่ทวดจากภาพนิมิตร ตั้งแต่ พ.ศ.2497 อันลือลั่น ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้สาธุชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศยังไม่ลดละความพยายามพากันเสาะแสวงหาเพื่อบูชาติดตัวพร้อมอาราธนาบทพุทธคุณ
“นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภควา”
เพื่อให้แคล้วคลาดจากภยันตรายและเจริญด้วยสิริสวัสดิ์ทั้งหลายทั้งปวง
เมื่อเอ่ย ถึงประวัติในการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรก พ.ศ.2497 จังหวัดปัตตานี มีหลายๆ ท่านอาจจะได้รับทราบข้อมูลมามากมาย จากสื่อนิตยสาร รวมเล่ม จากประวัติที่ได้ฟังเขาเล่าขานกันมา เรื่องราวการจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด ว่านรุ่นแรกนั้น ยังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่ทราบความเป็นจริงว่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดว่าน 2497 นั้น ว่านที่นำมาเป็นส่วนผสมนั้น มีทั้งหมด 200 กว่าชนิด คำว่า 108 มิใช่ว่าน 108 ชนิด แต่เป็นเรื่องพุทธคุณที่มีถึง 108 คำว่า 108 ก็คือ
“ได้ทุกสิ่งอะไรก็ได้ศักดิ์สิทธิ์”
คำว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นคำกล่าวที่ครอบจักรวาล นั่นเองคนเขามักจะนิยมเอามากล่าวกัน.
ที่มาของเนื้อว่าน
กล่าวถึงว่านต่างๆ ที่พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ได้บอกกล่าวให้ ชาวบ้านแถบป่าไร่ ข้างวัดช้างไห้เวลาไปกรีดยาง ขากลับให้นำว่านมาทิ้งไว้ตรงบริเวณลานวัดเพื่อทำการตากแห้ง
คำบอกเล่าจากปาก อาจารย์แย้ม พุฒยอด
อาจารย์แย้ม พุฒยอด หรือที่ท่านพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร จะเรียกว่า เจ้าแย้ม นั้นเป็นศิษย์เอก ของพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร พื้นเพเดิม อาจารย์แย้ม พุฒยอด อยู่เยื้องๆ กับวัดช้างไห้ มีบ้านและสวนยางอยู่ในละแวกนั้น ซึ่งจัดได้ว่า อาจารย์แย้ม พุฒยอด เป็นผู้มีฐานะคนหนึ่ง อีกทั้งยังได้รับการถ่ายทอด วิชาอาคม จากพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ในเรื่องของการ สักยันต์นั่นเอง ท่านอาจารย์แย้ม พุฒยอด ได้เล่าให้ฟังว่า ท่านพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ท่านเป็นพระอาจารย์ที่น่ารักมาก มีจิต เมตตาต่อชาวบ้าน ไม่ว่าพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร จะขอความช่วยเหลืออะไร ชาวบ้านจะยื่นมือเข้ามาช่วยทันทีเหมือนอย่างกับการที่พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ได้ดำริ ว่าจะสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดว่าน 108 ชาวบ้านที่ทราบต่างก็เสาะหาว่านมาให้กับพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ทันที.
จากคำบอกเล่าของท่านอาจารย์แย้ม พุฒยอด.ว่า เรื่องการจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรกนั้น เกิดจาก คุณอนันต์ คณานุรักษ์ ท่านนิมิตย์ถึงหลวงปู่ทวด ให้มีการจัดสร้างพระเครื่องขึ้น ซึ่งพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ท่านให้ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ เป็นผู้ดำเนินการจัดทำบล็อก ทั้งหมด บล็อกพระเป็นบล็อกครั่ง
ที่มาการสร้างบล็อกแม่พิมพ์
พูดถึงบล็อกพระเครื่องหลวงปู่ทวด ครั้งแรกเป็นโลหะ แล้ว นำครั่งพุทรามาเททำบล็อกจึงไม่เป็นที่น่าแปลกที่จะเจอบล็อกแท้ๆ ของพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่เป็นครั่งจะมีการหดตัวสูงหากเปรียบกับกาลเวลาที่ได้จัดทำมาถึง “50ปี (ห้าสิบกว่าปี)” มาแล้ว ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2497 มาจนถึงวันนี้
เริ่มแรกบล็อกครั่งเป็นแม่พิมพ์
การสร้างบล็อกครั่ง ร่วม 100 บล็อก อาจารย์แย้ม พุฒยอด ได้เล่าต่อไปว่า คุณอนันต์ คณานุรักษ์ ได้จัดทำบล็อกขึ้น เกือบ 100 บล็อกใช้คนช่วยกันกดพิมพ์พระเกือบ 100 คน มีทั้งเณร และพระสงฆ์ ฆราวาสนุ่งขาวห่มขาว รวมทั้ง อาจารย์แย้ม พุฒยอด ร่วมกันกดพิมพ์พระด้วย การกดพิมพ์พระไม่ได้พิถีพิถันแต่อย่างใด บางท่านก็ใช้ก้านธูป บางท่านก็ใช้เคาะออกจากเบ้า และบางท่านก็ใช้ไม้ไผ่เหลาให้แบนๆ เพื่อจะได้สะดวกในการงัดเอาพระเครื่องออกจากบล็อก จุดนี้นี่เองจึงไม่เป็นข้อยุติว่า ใต้ฐานพระ รูจะกลม หรือ จะแบน หรือ ไม่มีรูก็เกิดจากการกดเบ้าแล้วเคาะออก พระจะหลุดออกจากเบ้าหากเนื้อที่กดนั้นไม่เหนียวจนเกินไป
ปาฏิหาริย์ของว่าน 108
จากคำบอกเล่าจากชาวบ้านที่ไปเสาะหาว่านมาถวายพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ว่าตนเองได้หาว่านหลังจากเสร็จจากกรีดยาง (ตอนเช้า) ก็ได้ไปหาว่านโดยการนำว่านใส่กระสอบปุ๋ย จนเต็มกระสอบถุงปุ๋ยจึงได้กลับ ขากลับตะวันใกล้จะตกดิน ตนเองมีความรู้สึกว่าได้เหยียบอะไรบางอย่างรู้สึกว่านิ่มๆ ลื่นๆ พอมองดู ตกใจมาก “งู” เต็มไปหมด ตนเองได้เหยียบงู แต่แปลก งูไม่ทำร้ายกลับเลื้อยหนีไปนั่นเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของว่านนั่นเองที่ตนเองได้แบกอยู่ จึงได้นำความนี้ไปเล่าให้พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ฟัง พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร จึงได้บอก ญาติโยมว่า นี่แหละคือสาเหตุที่บอกญาติโยมให้เสาะหาว่านมาเพื่อที่จะนำไปสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด ความศักดิ์สิทธิ์ของว่านมีอยู่แล้ว บวกกับบารมีหลวงปู่ทวดแล้วด้วย พุทธคุณสูงสุด ต่อไปพระเครื่องชุดนี้จะมี คุณค่ามหาศาลและหายาก นี่คือคำบอกเล่าจากปากชาวบ้าน พระอาจารย์ทิม ธัมมโร พูดย้ำอยู่ตลอด เวลาญาติโยมนำว่านมาให้ ท่านจะเสกว่าน แล้วให้ชาวบ้านนำไปตากไว้บริเวณลานวัด
การหาว่านบางชนิดต้องนำเอาลูกไก่ไปล่อ
ชาวบ้านอีกท่านได้เล่าว่า ตนเองได้เข้าไปในป่าลึกเพื่อเสาะหาว่านต่างๆ ที่หายากๆ สมัยนั้นก็มี ว่านสบู่เลือดตัวผู้-ตัวเมีย, ว่านกลิ้งกลางดง, ว่านสาวหลง, ว่านพญาว่าน, ว่านหนุมานนั่งแท่น, ว่านคางคก, ว่านนางกวัก, ว่านนกคุ้ม และว่านอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่ตื่นเต้นที่สุด คือไปเจอว่านชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายกับ หม้อข้าว หม้อแกง (มีฝาเปิดปิดดักจับแมลง) แต่นี่เป็นรูปลักษณะคล้ายกันแต่ใหญ่กว่ามาก ความกว้างเกือบเท่า ศรีษะมนุษย์ พอเข้าใกล้มันจะหุบ จะถอนก็ถอนไม่ได้มันจะหุบเข้าหุบออก ด้วยความกลัวจึงไม่เอาต้นว่านต้นนี้ เลยเดินทางกลับ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนเดินป่าหาของป่า เรื่องว่านนี้ทราบไปถึงพ่อเฒ่าท่านหนึ่งได้บอกว่า ถ้าอยากจะได้ว่านต้นนี้ต้องนำไก่เป็นๆ ไปหนึ่งตัวเพื่อไปล่อให้มันกิน จะได้ถอนต้นมันได้ เพราะว่าพอมันกินไก่แล้วลำต้นมันจะอ่อนคล้ายคนนอนหลับ แต่ต้องไปเอายามเช้าอย่าให้สาย ว่าแล้วชาวบ้านท่านนั้นได้ทำตามที่ท่านผู้เฒ่าบอกตกลงว่าได้ต้นว่านนั้นมาสำเร็จ แต่ต้องแลกด้วยชีวิตไก่หนึ่งตัว ทุกวันนี้ยังเป็นปริศนาว่า ว่านต้นนั้นเป็นว่าอะไรกันแน่ นับว่าเป็นเรื่องแปลกแต่จริง
การพิจารณาเลือกบูชาพระเนื้อว่านหลวงปู่ทวด
การพิจารณาเลือกบูชาพระเนื้อว่านหลวงปู่ทวด ต้องดูเนื้อว่านให้เข้าใจ พระเนื้อพระบางองค์ที่ร่วนซุย เป็นเพราะว่าส่วนผสมในแต่ละครกอาจจะแก่ว่าน ปูนน้อย จึงทำให้พระหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรก เนื้อหาสาระไม่แข็งแกร่ง ในเรื่องมวลสารของพระเครื่องหลวงปู่ทวด แต่ละองค์ไม่มีสูตรสำเร็จที่ชัดเจน ฉะนั้นพระแต่ละองค์ความแข็ง ความแกร่ง นั้นไม่เท่ากัน บางองค์แก่ดิน บางองค์แก่ว่าน บางองค์แก่ปูน สำหรับมวลสารของเนื้อจะใกล้เคียงกันไม่หนีกันมากหากเนื้อกะเทาะ หรือหักออกมาดู หากดูทุกเนื้อ และทราบดีว่า แต่ละองค์มวลสารจะไม่หนีกันเลย ในเรื่องของมวลสาร นั้นสามารถชี้ชัด นั่นต้องบวกกับพิมพ์ และแร่ศักดิ์สิทธิ์นั้นด้วยทุกอย่างต้องกลมกลืนกัน ไม่มีรายการกระด้าง และไม่มีคำว่าเนื้อถูกแร่ผิด เนื้อผิด แร่ถูก แต่ให้ยึดถึงความชัดเจน และความเป็นธรรมชาติ หากแยกคำว่า ธรรมชาติไม่ได้ ไม่สามารถแยกแยะความเก่าความใหม่ได้ เนื้อแห้งธรรมชาติ กับเนื้อที่ผ่านการอบแห้งโดยเครื่องอบไมโครเวฟ มันต่างกันมากให้สังเกตให้ดี แต่นั่นต้องเข้าใจคำว่า แห้งธรรมชาติให้ได้ หากว่าดูแล้วก้ำกึ่ง ก็สามารถตี “เก๊” ได้เลยทันที ไม่ต้องกังวล พระแท้จริงๆ เพียงยกขึ้นมาดูรู้ว่าแท้ นั่นคือพระที่ดูง่าย หากว่าพระบางองค์ถึงขนาดส่องดูนานเป็นครึ่งชั่วโมง ไม่แนะนำให้ซื้อ เพราะว่าโอกาส “เก๊” นั้นสูงมากเลยทีเดียว มวลสารเม็ดแดงของกล้วยป่า และความแห้งเป็นเกร็ดของน้ำมันตังอิ้ว บวกกับข้าวสุก และข้าวเหนียว ผงว่านต่างๆ 200 กว่าชนิด แร่กายสิทธิ์ ยางว่านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการ “แช่” เพื่อให้ยางว่านเกาะเพื่อให้เกิดความแข็งตัวขึ้นกว่าเก่า จะมีไม่มาก เพราะว่าเวลามันกระชั้นชิด
กำหนดจำนวนการสร้างพระเนื้อว่าน
พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ได้มีการกำหนดในการสร้างครั้งนี้เป็นจำนวน 84,000 องค์ แต่มีการกดพระได้เพียง 64,000 องค์ เพราะระยะเวลาการกดพิมพ์พระนั้นใช้เวลามากน่าดู มีทั้งพระ และ ฆราวาสร่วมกันกดพิมพ์พระ ส่วนฆราวาสที่ร่วมกันกดพิมพ์พระก็จะต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลด้วย ท่านอาจารย์แย้ม พุฒยอด ศิษย์เอกพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ได้เล่าต่อไปว่า การจัดสร้างทั้งมวลสาร และพิมพ์พระไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์อะไร การผสมเนื้อก็เช่นกัน จะใช้ “ครกตำข้าว” แบบสมัยก่อนถือว่าทันสมัยที่สุดแล้ว ชาวบ้านก็มีความชำนาญ บวกกับความศรัทธาในองค์หลวงปู่ทวด และกิจวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร การร่วมแรง ร่วมกาย และร่วมแรงใจจึงเป็นส่วนผลักดันทำให้พระเครื่องชุดหลวงปู่ทวด เนื้อว่าน รุ่นแรก พ.ศ.2497 นั้นมีความเข้มขลังสุดกำลัง เพราะว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์อะไรแต่อย่างใด เป็นความศรัทธา ใสสะอาดบริสุทธิ์มาก ๆ เลยทีเดียวเรื่องเงินทองไม่ต้องพูดถึงเพราะว่าชาวบ้าน ทุ่มทั้งแรงกาย แรงใจ และ แรงเงิน ร่วมสมทบในทุกๆ เรื่องจึงไม่แปลกใจ ว่าทำไมพระเครื่องหลวงปู่ทวด เนื้อว่าน รุ่นแรกวัดช้างไห้ ถึงมีความขลังแบบสุดๆ ประสบการณ์มากมายเหลือคณานัป การกดพิมพ์พระ พอใกล้วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 การกดพิมพ์พระได้เพียง “60,000 กว่าองค์ (หกหมื่นกว่าองค์)” ซึ่งพระอาจารย์ทิม ธัมมโร ได้มองดูแล้วคงไม่ถึง 84,000 องค์ พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ได้บอกกับ อาจารย์แย้ม พุฒยอด ว่า “เจ้าแย้มให้ทุกคนช่วยกันกดพิมพ์พระให้ได้ถึง 64,000 องค์ ก็แล้วกัน และ ให้ไปตระเตรียมข้าวของต่างที่จะจัดพิธีปลุกเศกหลวงปู่ทวด ในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2497” ซึ่งหน้าที่ตรงนี้เป็นหน้าที่ที่ท่าน อาจารย์แย้ม พุฒยอด ดำเนินการในเรื่องการตระเตรียมข้าวของที่จะทำพิธีปลุกเศกหลวงปู่ทวด เนื้อว่าน รุ่นแรก พ.ศ.2497 ท่าน อาจารย์แย้ม พุฒยอด กล่าวอีกต่อไปว่า ท่านพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร มักจะพูดเปรยๆว่าชุดเนื้อว่านรุ่นแรกนี้ ต่อไปจะมี “คุณค่ายิ่งกว่าทองคำ” นี่คือคำบอกกล่าวของท่าน อาจารย์แย้ม พุฒยอด
การนำมวลสารนำมาสร้างพระ
มวลสาร ที่นำมาผสมมี “ข้าวก้นบาตร” พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร จะเก็บข้าวก้นบาตรไว้ทุกวัน เพื่อที่จะนำไปส่วนผสมในการทำพระเครื่องหลวงปู่ทวด โดยการนำข้าวก้นบาตรไปตากแดดบนหลังคากุฏิ เพื่อกันไก่เข้าไปกิน แล้วนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนๆ เท่ากับกำปั้น
พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ยังนำข้าวเหนียวในพิธีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 คือวันไหว้ครู ที่จะจัดขึ้นเป็น ประจำของทุกปี การที่นำข้าวเหนียวที่ปั้นแล้วมาปลุกเสกนั้นเป็นพิธีกรรมโบราณซึ่งมีมานานแล้ว ผู้ที่เข้าพิธีกรรมนั้น ต้องกินข้าวเหนียว เพื่อเป็นสิริมงคล และในแง่ของคนเรียนไสยศาสตร์ หากได้กินข้าวเหนียวในพิธีแล้วจะอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งข้าวเหนียวนั้นจะเป็นส่วนผสมในการสร้างหลวงปู่ทวดว่าน 2497 ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะนำไปตากแดดให้แห้งแล้วนำไปบดผสมกับว่าน 108
กล้วยป่าเป็นส่วนผสมพร้อมน้ำมันตังอิ้ว ชาวบ้านในละแวกวัดช้างไห้ ทั้งชาวบ้านป่าไร่ เขามีความศรัทธาในกิจวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร เป็นอย่างมาก ซึ่งความเมตตาของพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร นั้นล้นพ้น หากว่าพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร บอกกล่าวไหว้วานให้ชาวบ้านทำอะไรแล้วละก็ ชาวบ้านเขาจะรีบช่วยกันดำเนินการให้ทันที เหมือนกับส่วนผสมพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร ได้กล่าวว่า ต้องการกล้วยป่าเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะนำมาเป็นตัวประสาน อีกทั้ง น้ำมันตังอิ้ว และ ปูนขาว เพื่อให้เนื้อรวมตัวกัน และจับตัวกันเป็นก้อนแข็งเหมือนกับหินครกนั่นเอง
การดำเนินการพิธีปลุกเศก
พิธีปลุกเศกหลวงปู่ทวด “ประทับทรงพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร” ได้ดำเนินการปลุกเศกในช่วง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 พิธีปลุกเศกหลวงปู่ทวด เนื้อว่าน รุ่นแรก วัดช้างไห้ ได้จัดขึ้นภายในพระอุโบสถ วัดช้างไห้ ในขณะที่กำลังทำพิธีปลุกเศกอยู่นั้น ได้เกิดสิ่ง มหัศจรรย์ขึ้น “ร่างกายพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร เกิดอาการสั่นสะท้าน แรงขึ้น และ แรงขึ้น จนกระทั่ง ร่างกายพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร หลังค่อมแบบคนแก่มาก ๆ หน้าแทบจะจรดพื้น” ท่านอาจารย์แย้ม พุฒยอด ได้เล่าให้ฟังต่อไปว่า เสียงของพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร เปลี่ยนเป็นเสียงคนแก่มาก ในขณะที่กำลังสวดมนต์อยู่ไม่ขาดสาย เสียงสวดมนต์ไม่มีการขาดช่วงแต่อย่างใด ที่ชัดเจนเสียงสวดมนต์ของคนแก่ ซึ่งไม่ใช่เป็นเสียงของพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร อย่างแน่นอน ท่านอาจารย์แย้ม พุฒยอด ท่านได้ยืนยัน
พระอาจารย์ที่ร่วมปลุกเศก
มีหลวงพ่อศรีสุข สัจจะวาโร หนึ่งในเกจิอาจารย์ร่วมปลุกเศก พระเกจิอาจารย์ที่ร่วมในพิธีปลุกเศก เท่าที่ทราบ มีดังนี้
-
หลวงพ่อศรีสุข สัจจะวาโร แห่งวัดน้ำน้อยใน จังหวัดสงขลา
-
หลวงพ่อพรหม วัดน้ำขาวใน จังหวัดสงขลา
-
หลวงพ่อทอง สำนักสงฆ์ป่ากอ อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา
-
หลวงพ่อแดง วัดศรีมหาโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
-
หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขันธ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
-
พระครูภัทรกรณ์โกวิท (ท่านเจ้าคุณแดง ธัมมะโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดนาประดู่
-
พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว
พระเกจิอาจารย์ที่ร่วมในพิธีปลุกเศกครั้งนั้น และยังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่ได้เอ่ยถึง
การจำแนกแยกพิมพ์
พิมพ์พระหลวงปู่ทวด เนื้อว่าน พอจะจำแนกได้ตามหลักสากล มี 3 พิมพ์
-
พิมพ์ใหญ่
-
พิมพ์กลาง
-
พิมพ์เล็ก
หากจำแนกพิมพ์แยกละเอียด จะมีร่วม 20 พิมพ์ แต่ในที่นี้ขอแยกพิมพ์จุดใหญ่ คือ 3 พิมพ์ ส่วนพิมพ์พิเศษ มีหลายพิมพ์ เช่น
-
พิมพ์สี่เหลี่ยมกลักไม้ขีด จำนวนการสร้าง 20 กว่าองค์ (ปัจจุบันหาองค์จริงนั้นยากกว่าทุกๆพิมพ์)
-
พิมพ์ขุนแผน
-
พิมพ์พระประจำวัน
-
พิมพ์ชินราช
-
พิมพ์พระปิดตา
การจัดสร้าง เนื้อว่าน นั้น ปี 2497 นั้น พิมพ์พิเศษ อาจจะมีมากกว่านี้ก็เป็นได้ แต่ให้ยึดหลัก เนื้อจะต้องแบบเดียวกับ ว่านพิมพ์มาตรฐาน 3 พิมพ์ หากเนื้อไม่ตรงกัน ถือว่าเป็นข้อยุติ คือไม่ใช่แน่นอน ที่ได้เขียนบทความไว้นี้ ไม่ต้องการให้ทุกท่านใฝ่หา หรือเสาะหาชุดว่าน 2497 นอกพิมพ์ อยู่ที่ดุลยพินิจของแต่ละท่าน ประวัติการสร้างอาจจะละเอียดมากกว่านี้ เป็นคำบอกเล่า จาก ท่านอาจารย์แย้ม พุฒยอด อานิสงค์ของการให้ความรู้ในครั้งนี้นั้นขอ อุทิศให้ คุณครูบาอาจารย์ทุกท่าน และผู้ที่มีพระคุณ ขอให้ได้รับอานิสงค์ผลบุญในครั้งนี้ด้วย เทอญ
จากการอ่านหนังสือที่เขียนถึงพระหลวงพ่อทวด ไม่มีหนังสือเล่มใดเลยที่ให้ความกระจ่างแจ้งว่า เขาดูพระเนื้อว่านแท้กันอย่างไร? มีแต่ลงรูปพระให้ดูกันเอาเอง ดูรูปพระแล้วดูเล่าอยู่หลายปี ก็ยังมองไม่ออก ถามผู้รู้เซียนพระเขาก็บอกว่า องค์นี้แท้ องค์นั้นเก๊ โดยไม่รู้เหตุผลว่า ทำไมถึงแท้ ทำไมถึงเก๊ ถามใครก็ให้ความกระจ่างไม่ได้
ดังนั้น ก็ได้ข้อสรุปมาว่า “ถ้าเรายังเป็นเช่นนี้อยู่ ก็คงศึกษาเช่าบูชา หรือสะสม ไม่ก้าวหน้าแน่นอน” การเช่าหาบูชาพระแบบนี้ก็เหมือนให้คนอื่นจูงจมูก พระจะแท้หรือเก้ ขึ้นอยู่กับคนอื่นทั้งหมด โดยตัวเราไม่รู้เรื่อง หากยังเป็นแบบนี้อยู่อีกก็เปรียบเสมือนยืมจมูกคนอื่นหายใจ เล่นหาพระแบบตามหลังคนอื่นตลอดเวลาแน่ๆ