พระกรุหล่อโบราณ พระมเหศวร 2 หน้า เนื้อชิน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
สารบัญ
ความเป็นมา
พระเครื่องที่พบ ณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี นับเป็นพระพิมพ์ที่สำคัญและได้รับความนิยมสูงหลายต่อหลายพิมพ์ รวมถึง พระผงสุพรรณ หนึ่งในพระชุดเบญจภาคี และ พระมเหศวร หนึ่งในชุดเบญจภาคีพระยอดขุนพล นอกจากนี้ยังมี พระสุพรรณหลังผาน (หลังพระ) พระสุพรรณยอดโถ พระปทุมมาศ พระกำแพงศอก พระท่ามะปรางค์ พระถํ้าเสือ พระอรัญญิก พระร่วงยืน พระร่วงนั่ง พระลีลาพิมพ์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งล้วนได้รับความนิยมทั้งสิ้น พระมเหศวร มีการค้นพบเฉพาะกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เป็นพระมีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ เป็นพระที่มีสองหน้า แต่ละหน้าขององค์พระสวนกัน นาม “พระมเหศวร” นั้น มีตำนานกล่าวขานกันว่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแถบภาคกลางของไทย เช่น ชัยนาท อุทัยธานี และสุพรรณบุรี ได้เกิดชุมโจรออกปล้นสะดมชาวบ้านอย่างชุกชุม ยิ่งตามรอยต่อของทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว จะมีชุมโจรที่น่าเกรงขาม อาทิ เสือฝ้าย และเสือมเหศวร เป็นต้น โดยเฉพาะ “เสือมเหศวร” มีชื่อเสียงโด่งดังมากในเรื่องอยู่ยงคงกระพัน ยิงฟันไม่เข้า เล่ากันว่าเพราะเสือมเหศวรมีพระเครื่องชั้นดีอยู่องค์หนึ่งที่อาราธนาอยู่บนคอตลอดเวลา เป็นพระเนื้อชิน ประทับนั่งปางมารวิชัย สองหน้า นั่งเอาพระเศียรสวนทางกัน สมัยนั้นเรียกกันว่า “พระสวน” สืบต่อมาจึงเอาชื่อของเสือมเหศวรมาเรียกเป็นชื่อพระพิมพ์ว่า “พระมเหศวร”
การขุดค้นพบ
การแตกกรุของพระมเหศวรนั้น กว่าทางราชการจะรู้เรื่อง ก็มีชาวบ้านเข้าไปขุดกรุโดยพลการแล้วกว่า 10 วัน ทำให้ทรัพย์สมบัติลํ้าค่ารวมทั้งแผ่นลานทองอันเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์สูญหายไปมากมาย ผู้ว่าราชการเมือง พระทวีประชาชน (อี้ กรรณสูต) ต่อมาเป็น พระยาสุนทรสงคราม จึงได้ตั้งกรรมการขุดกรุขึ้นมาชุดหนึ่ง ได้พระเครื่องพระบูชาเป็นเล่มเกวียน กับลานทอง 3-4 แผ่น ส่งไปให้กรมศิลปากร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ทรงแปลอักษรในลานทอง
การสร้างแม่พิมพ์
พระมเหศวร จัดได้ว่า เป็นพระที่มีพิมพ์ลักษณะแปลกพิมพ์หนึ่งของพระเครื่องเมืองไทย ที่ขุดพบในกรุวัดพระศรีฯ แห่งนี้ เป็นพระเนื้อ ชินเงิน ศิลปะอู่ทอง เช่นเดียวกับพระผงสุพรรณ สันนิษฐานว่าเป็นพระที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์เมืองอู่ทอง เนื้อหามวลสาร พระมเหศวร เป็นพระเนื้อชินเงิน หรือ เนื้อชินแข็ง บางองค์มีส่วนผสมของเนื้อตะกั่วมากกว่าเนื้อดีบุก ซึ่งเรียกว่า “เนื้อชินอ่อน”
เรื่องเล่า
ในห้วงเวลาหนึ่ง ของเมืองไทย ชุมโจร ดงเสือ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง นับตั้งแต่ สุพรรณบุรี เป็นดั่งศูนย์กลาง แผ่ขยายออกไปจังหวัดโดยรอบ เป็นพื้นที่ที่เป็นแดน ที่ปกครอง และ ควบคุม และ หนึ่งใน เสือที่มีชื่อเสียง นั่นคือ เสือมเหศวร และมีพระเครื่องติดตัว เป็นพระกรุเก่า คนจึงเข้าใจเรียกรวมไปว่า เป็น พระมเหศวร ไป
เล่าขานว่ากัน พระเครื่องนี้ มีพุทธคุณ คุ้มกัน แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี
พระเครื่องจากกรุนี้ จากข้อมูลหลักฐาน ที่สืบค้นได้ อธิบายไว้ว่า เป็นพระที่แตกกรุมาจาก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดพระธาตุ แต่เดิม ตั้งวอยู่ ต.รั้วใหญ่ เขตอ.เมือง
แหล่งการค้นพบกรุ
นอกจากนี้ยังมีการพบพระพุทธรูปบูชา ศิลปะลพบุรี และอู่ทอง ปะปนอยู่ด้วย พระต่างๆ ทั้งหมดที่ถูกค้นพบในกรุวัดพระศรีฯ แห่งนี้ มีจำนวนมากมายมหาศาล และเป็นที่ยอมรับว่าถูกต้องทุกประการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพราะมีหลักฐานสำคัญที่บ่งบอก ให้รู้แหล่งที่มาของสมบัติอันล้ำค่าในกรุอย่างชัดเจน คือ แผ่นลานทอง ซึ่งมีการแปลอักษรตีความในเวลาต่อมา
พระมเหศวร กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระที่สร้างด้วย เนื้อชินเงิน มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกับพระพิมพ์อื่นใด ไม่ว่าจะเป็นพระกรุไหนก็ตาม คือ พระพิมพ์นี้มี 2 หน้า โดยพระเศียรของพระด้านหนึ่ง หากพลิกไปด้านหลังจะตรงกับฐานขององค์พระ คือ พระเศียรวางในตำแหน่งสวนกัน จึงเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่า พระมเหศวร ทั้ง 2 หน้าเป็นพระปางสะดุ้งมาร สร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง มีบางท่านเข้าใจว่าชื่อ พระมเหศวร น่าจะเรียกตามชื่อของ ขุนโจร ชื่อดังแห่งเมืองสุพรรณ ในสมัยก่อน คือ เสือมเหศวร แต่ข้อเท็จจริง ชื่อ พระมเหศวร มีมาก่อน ไม่น้อยกว่า 100 ปี ก่อนหน้าที่จะมี เสือมเหศวร เกิดขึ้นในเมืองสุพรรณไม่น้อยกว่า30 ปี
พระมเหศวร มีหลายพิมพ์ทรง แบ่งตามขนาดองค์พระ อาทิ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่พิเศษ หากแยกตามรายละเอียด จะได้อีกหลายสิบพิมพ์ ขณะเดียวกัน หากแบ่งตามพระพักตร์ จะได้อีกหลายพิมพ์ อาทิ หน้าอู่ทอง หน้าพระเศียรขนนก หน้าพระเนตรโปน ฯลฯ
พระมเหศวร นอกจากจะมีพิมพ์พระเศียรสวนกลับกันคนละหน้าแล้ว ยังมี พิมพ์สวนเดี่ยว คือเป็นพระหน้าเดียว ด้านหลังเรียบ ไม่มีรายละเอียดใดๆ บางองค์ด้านหลังมีลายผ้า เป็นพระรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว แบบทรงสูง โดยด้านหน้าพิมพ์พระเหมือน พระมเหศวร แบบ 2 หน้า ต่างกันตรงที่องค์พระตัดเส้นม่าน ที่มีลักษณะคล้ายปีกทั้งสองข้างออก พระมเหศวร เดี่ยว เป็นพระที่พบในกรุจำนวนน้อยมาก นิยมกันมาก โดยเชื่อว่ามีคุณวิเศษสูง และมากด้วยประสบการณ์ต่างๆ นานา พระมเหศวร สร้างโดย ฤๅษีพิมพิลาไลย ดังนั้นในด้านพุทธคุณจึงยอดเยี่ยมในทุกๆ ด้าน ถือว่า สุดยอดแห่งความเหนียวด้านคงกระพันชาตรี อีกทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้คลาดมหาอุด ก็เป็นเลิศ
บทสรุปพระมเหศวร
พระมเหศวร เป็นพระเครื่องเนื้อชินชั้นนำที่สุดของจังหวัดสุพรรณบุรี มีเฉพาะที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแห่งเดียว พุทธลักษณะของพระมเหศวรเป็นพระปางสะดุ้งมารจะมี ๒ หน้า แต่ละหน้าของเศียรองค์พระจะสวนกัน จึงทำให้คนสมัยก่อนเรียกว่า “พระสวน” แต่ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันว่า “มเหศวร”มิใช่นำชื่อของจอมโจรชื่อดังในสมัยก่อนมาเป็นชื่อพระ เพราะคำว่า “มเหศวร” มีมาก่อนจอมโจรชื่อดังคนนี้ เข้าใจว่าจอมโจรชื่อดังจะเอาชื่อ “พระมเหศวร”มาเป็นชื่อของตัวเองมากกว่า พระมเหศวร ที่พบมีประมาณ ๒๔ แบบ แต่ที่แบ่งแยกออกมาเป็นพิมพ์จะได้ ๕ พิมพ์ คือ ๑. พระมเหศวรพิมพ์ใหญ่ ๒. พระมเหศวรพิมพ์กลาง ๓. พระมเหศวรพิมพ์เล็ก ๔.พระสวนเดี่ยว ๕.พระสวนตรง พระมเหศวรที่พบส่วนใหญ่ จะเป็นเนื้อชินเงินเกือบทั้งหมด ที่เป็นชินเขียวก็มี แต่เข้าใจว่าเป็นยุคหลังสร้างล้อของเก่าที่เป็นเนื้อชินเงิน พระมเหศวร ควรจัดเป็นพระชั้นนำของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้ถูกสร้างพร้อมกับพระผงสุพรรณที่เลื่องลือโดย “ฤๅษีพิมพ์พิลาไลย” เพราะฉะนั้น พุทธคุณจึงยอดเยี่ยมเหมือนพระผงสุพรรณเลยทีเดียว คือ มี เมตตามหานิยม แคล้วคลาดมหาอุดโดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี ถือว่าสุดยอดที่สุด พระมเหศวร เป็นพระศิลปะแบบ “อู่ทอง” ผู้ที่มีไว้ในครอบครองถือว่านอกจากจะได้พระที่เปี่ยมไปด้วยพุทธคุณแล้ว ยังได้พระที่มีศิลปะล้ำค่าไว้ในครอบครองอีกด้วย ปัจจุบันจัดเป็นพระที่มีราคาสูง และจัดอยู่ ๑ ใน ๕ ยอดขุนพลประเภทเนื้อชินของประเทศไทย